เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 30 กรกฎาคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,071
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,437
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,071
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,437
    วันนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๓๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระผม/อาตมภาพไปงานฉลองสัญญาบัตรพัดยศของพระเดชพระคุณพระสุพรรณวัชราจารย์ (ป่วน ณฏฺฐโสภโณ) หรือที่กระผม/อาตมภาพเรียกท่านว่าหลวงปู่ป่วน รองเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าอาวาสวัดบรรหารแจ่มใส อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

    หลวงปู่ป่วนท่านบวชเณรกับหลวงปู่มุ่ย วัดดอนไร่ ท่านทั้งหลายถ้าหากว่าติดตามข่าวคราวในวงการพระเกจิอาจารย์ ก็จะทราบดีว่าหลวงปู่มุ่ย วัดดอนไร่นั้น ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เป็นที่นับถือของบุคคลทั่วไปขนาดไหน

    หลวงปู่ป่วนนั้น ท่านมีวัตรปฏิบัติที่เข้มข้นตามที่ครูบาอาจารย์สอน แม้กระทั่งวันนี้ที่เป็นวันฉลองสัญญาบัตรพัดยศของท่าน ท่านก็ยังออกบิณฑบาตตามปกติ..! ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า แม้กระผม/อาตมภาพจะเข้มงวดในเรื่องของการบิณฑบาตก็ตาม แต่ถ้าหากว่ามีงานคณะสงฆ์เข้ามา กระผม/อาตมภาพก็เดินทางไปงานคณะสงฆ์โดยไม่ได้บิณฑบาต แต่หลวงปู่ท่าน ขนาดวันนี้เป็นงานฉลองสัญญาบัตรพัดยศของตนเอง ท่านยังออกบิณฑบาตตามปกติ

    เราจะเห็นว่าพระเถระที่ได้รับการอบรมมาแบบเก่า ๆ ท่านจะเข้มงวดต่อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ อันดับแรกเลยก็คือปฏิบัติตามที่ครูบาอาจารย์สอน ซึ่งตรงนี้ต้องใช้คำว่า "สั่งสอน" ก็คือ เห็นคำสอนครูบาอาจารย์เป็นคำสั่งที่ต้องปฏิบัติตาม แบบเดียวกับที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระธรรมวินัยขึ้นมาให้พวกเรา ก็คือมีคำสั่ง อย่างเช่นสั่งว่าต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ แล้วก็มีคำสอน ก็คือควรปฏิบัติเช่นนั้น ควรปฏิบัติเช่นนี้

    ดังที่กระผม/อาตมภาพเคยเรียนถวายหลายท่านไปแล้วว่า ตัวกระผม/อาตมภาพนั้นฟังคำสอนหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงเป็นคำสั่ง ก็คือถ้าหากว่าท่านฟังเป็นคำสอน อาจจะปล่อยเลยหูไปก็ได้ แต่ถ้าฟังเป็นคำสั่งก็คือ ครูบาอาจารย์ท่านสั่งให้เราทำ

    ตั้งแต่เจอหน้าหลวงปู่ป่วนในงานปลุกเสกเมื่อหลายปีที่แล้ว ท่านไม่เคยยอมให้กระผม/อาตมภาพกราบท่านเลย ทุกครั้งจะโดนท่านตะครุบมือเอาไว้ บอกว่า "แค่ไหว้ก็พอแล้ว" ส่วนวันนี้หนักยิ่งกว่านั้นอีก เพราะว่าท่านนั่งรับพระเถรานุเถระอยู่ พอกระผม/อาตมภาพเข้าไปถึง ท่านทิ้งตัวจากเก้าอี้ลงมานั่งพื้น และไม่ยอมให้กราบตามเคย

    เรื่องนี้หลวงปู่ท่านจะรู้เห็นอะไร กระผม/อาตมภาพก็ไม่ทราบ ทราบอยู่อย่างเดียวว่าถ้าท่านทำแบบนี้ออกสื่อบ่อย ๆ กระผม/อาตมภาพจะอยู่ยาก..! เพราะว่าหลวงปู่ท่านอายุ ๗๒ ปีแล้ว นับพรรษามาตั้งแต่อายุครบบวชมาก็ ๕๒ พรรษาแล้ว เราจะเห็นว่าพระเถระที่ท่านมีความรู้ความสามารถ ท่านก็มักจะมองอะไรที่เกินสายตาของเราไป แล้วมีการปฏิบัติที่บางทีคนอื่นก็ไม่เข้าใจ กระผม/อาตมภาพพอถวายสักการะท่านเสร็จก็รีบขอตัวกลับ ขืนอยู่เดี๋ยวกลายเป็นเป้าของชาวบ้าน..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,071
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,437
    ส่วนเรื่องอื่นที่วันนี้อยากจะบอกเล่าให้กับพระใหม่ทั้งหลายก็คือ ตอนนี้เรากำลังเรียนพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเฉพาะที่กระผม/อาตมภาพขอให้บรรดาครูบาอาจารย์สอนพวกเรา ก็คือพระวินัยของพระสงฆ์ก่อน เราจะได้รู้ว่าศีล ๒๒๗ ข้อเป็นอย่างไร จะได้ปฏิบัติได้ถูกต้องเพื่อรักษาตนเอง

    อย่างเมื่อครู่ที่พระใหม่ท่านถามว่า ท่านสามารถนำเงินที่รับบิณฑบาต หรือว่าได้รับมาในขณะที่บวช ให้กับพ่อแม่ได้หรือไม่ ? กระผม/อาตมภาพบอกว่าได้ แต่ต้องเป็นจำนวนที่สมควร คำว่าสมควรในที่นี้ก็คือเหมาะสม พอที่จะอยู่ได้

    อย่างที่กระผม/อาตมภาพเคยขออนุญาตต่อคณะสงฆ์ว่า จะมอบเงินช่วยเหลือความเป็นอยู่ของโยมแม่ ให้คณะสงฆ์ช่วยกันพิจารณาว่าสมควรที่เท่าไร แล้วพระท่านร่วมกันพิจารณา ฟันธงลงมาว่า ๖,๐๐๐ บาทต่อเดือน ก็คือในเศรษฐกิจยุคนั้นสมัยนั้น ถ้าหากว่ามีวันละ ๒๐๐ บาทก็พอที่จะอยู่ได้โดยไม่ลำบากนัก แต่ถ้าหากว่าเป็นสมัยนี้ ๒๐๐ บาท ซื้อข้าวครบ ๓ มื้อ ก็แทบจะไม่เหลือติดตัวแล้ว..!

    องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุ อนุเคราะห์สงเคราะห์ต่อบิดามารดาได้ด้วยปัจจัย ๔ ตามสมควร แต่ว่าตามสมควรในที่นี้ บางท่านก็เกินไป อย่างสมัยหลวงปู่เณรคำ ปลูกบ้านให้พ่อให้แม่หลังหนึ่งหลายล้านบาท แจกบ้านให้ญาติพี่น้องอีกคนละหลังสองหลัง ถ้าลักษณะอย่างนั้นก็เป็นการที่ทำเกินคำสั่งขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปมาก

    ในส่วนทั้งหลายเหล่านี้ไม่ใช่ส่วนที่กระผม/อาตมภาพจะกล่าวถึง แต่ที่ต้องกล่าวถึงก็คือท่านทั้งหลายถ้าศึกษาในพุทธประวัติ บางทีก็อาจจะสงสัย เนื่องเพราะว่าสมัยนี้บรรดา "นักวิชาเกิน" นั้นมีมาก อาจจะพาให้เราสงสัยว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่ ? พระธรรมวินัยที่บันทึกในพระไตรปิฎกนั้นเป็นของจริง หรือว่ามีของปลอมปนแทรกเข้ามา ?

    ในเรื่องขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราใช้ตรรกะง่าย ๆ อย่างเช่น ถ้าเขาถามว่าทวดหรือเทียดของเรามีจริงหรือไม่ ? ในเมื่อเรามีพ่อ พ่อมีปู่ ปู่ก็ต้องมีพ่อของปู่ ก็คือทวด ก็ไล่ขึ้นไปเรื่อย ๆ ในเมื่อมีตัวเราที่เป็นพระภิกษุอยู่ในขณะนี้ ก็มีพระอุปัชฌาย์อาจารย์ของเรา พระอุปัชฌาย์อาจารย์ของเราก็ต้องมีพระอุปัชฌาย์อาจารย์สืบขึ้นไปเป็นลำดับ ๆ ถ้าสามารถไล่ย้อนหลังไป ๒,๖๐๐ ปีโดยประมาณ ก็จะต้องมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ นี่เป็นการเทียบตรรกะแบบง่าย ๆ

    แต่ส่วนที่นักวิชาการในสมัยนี้สงสัย ต้องบอกว่าบังอาจมาก..! ก็คือไปตั้งความสงสัยว่า หลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่บันทึกในพระไตรปิฎกนั้น เป็นพระพุทธวจนะอย่างแท้จริงหรือไม่ ?
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,071
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,437
    กระผม/อาตมภาพขอบอกให้ท่านทั้งหลายที่ไม่ค่อยจะได้ศึกษาพระไตรปิฎกให้ชัดเลยว่า สิ่งที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกนั้น เป็นคำสอนที่แท้จริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ว่าบางคำสอนจะเป็นเถรภาษิต อย่างเช่นภัทเทกรัตตสูตร ที่พระมหากัจจายนะอธิบายขยายความให้กับพระภิกษุต่าง ๆ ได้ฟัง แต่นั่นก็ผ่านการรับรองขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วว่า ถ้าเป็นพระองค์ท่านก็จะอธิบายแบบนี้

    คราวนี้ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่าการสังคายนาพระธรรมวินัยของเรานั้น เริ่มต้นหลังจากพุทธปรินิพพานแค่ ๓ เดือนเท่านั้น แล้วเป็นการระดมพระอรหันต์ถึง ๕๐๐ รูปในการทำสังคายนาพระธรรมวินัย

    คำว่า สังคายนา นั้นก็คือ การร้อยกรอง หรือว่า สวดสาธยาย ท่านที่สามารถสวดแจงได้ก็จะเห็นว่า ยันเตนะ ภะคะวะตา ชานะตา ปัสสะตา อะระหะตา สัมมาสัมพุทเธนะ ฯลฯ เป็นต้น นั่นคือแสดงให้เห็นชัดถึงการร้อยกรองพระธรรมวินัยว่าทำอย่างไร มีพระมหากัสสปะเป็นประธานสอบถาม พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาในพระสูตรและพระอภิธรรม พระอุบาลีซึ่งได้รับการตั้งเป็นเอตทัคคะในพระธรรมวินัย เป็นผู้วิสัชนาในส่วนของพระวินัย เป็นการถามตอบกันทีละประโยค

    อย่างเช่นว่า

    ปะฐะมัง ปาราชิกัง กัตถะ ปัญญัตตันติ

    ปฐมบัญญัติปาราชิก บัญญัติขึ้นที่ไหน ?

    เวสาลิยัง ปัญญัตตันติ

    บัญญัติขึ้นที่เมืองเวสาลี

    กังอารัพภาติ

    ด้วยปรารภในเรื่องอะไร ?

    สุทินนังกะลันทะปุตตัง อารัพภาติ ฯลฯ

    ปรารภในเรื่องของพระสุทินนกลันทบุตร ฯลฯ

    เมื่อถามตอบกันจนกระทั่งจบเรื่องแล้ว ถ้าหากว่าพระสงฆ์ทั้งหมดที่ประชุมร่วมกันนั้นมีความเห็นว่าใช่ ก็จะสวดสาธยายขึ้นพร้อมกัน เขาถึงใช้คำว่าสังคายนา (การสวดสาธยาย) นั่นก็คือการทวนขึ้นมาพร้อม ๆ กันว่าใครจำถูกใครจำผิด ถ้า ๔๙๙ รูปจำมาถูกต้อง แต่เราจำผิด เราต้องแก้ไข อย่างเช่นว่าจักขุง อุทะปาทิ แต่ถ้าท่านไปจำเป็นจักขุง อุทะปาทะ ก็จบกัน เราไปกับเขาไม่ได้ เราก็ต้องตาม ๔๙๙ รูปนั้นว่าอุทิปาทิ เป็นต้น
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,071
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,437
    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น การสังคายนาที่สืบทอดกันมาแม้ครั้งที่ ๒ หลังจากพุทธปรินิพพานประมาณ ๑๐๐ ปี ประชุมสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์ ๗๐๐ รูป ครั้งต่อไปประมาณ ๒๐๐ กว่าปีหลังจากพุทธปรินิพพาน ประชุมสงฆ์ ๑,๐๐๐ รูป เป็นพระอรหันต์ล้วน ๆ

    ถ้าหากว่าเรารู้สึกว่าสิ่งที่พระเถระทั้งหลายสังคายนามาอาจจะมีข้อผิดพลาด ถ้าท่านศึกษาในพระไตรปิฎก ก็สามารถที่จะเทียบกับบรรดาประเทศที่นับถือพระไตรปิฎกสายเถรวาท หรือที่เราเรียกกันว่าหีนยาน ซึ่งเป็นการเรียกของทางฝ่ายมหายาน ไม่ว่าจะเป็นศรีลังกา เป็นพม่า เป็นไทย เป็นลาว เป็นกัมพูชา

    ท่านจะเห็นว่าสิ่งที่ผิดพลาดนั้นแทบจะมีไม่กี่คำ และไม่ใช่การผิดพลาดในเนื้อหาสำคัญด้วย เป็นความผิดแค่ศัพท์อย่างเช่นว่า ชโน (อันว่าชน) หรือชนัง (อันว่าชนทั้งหลาย) ต่างกันแค่นี้เอง ความหมายในหลักธรรมอื่นไม่มีอะไรผิด

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ใครที่ไปตั้งข้อสงสัยว่าตรงนั้นผิด ตรงนี้ผิด ผู้นั้นแต่งขึ้นมา ผู้นี้แต่งขึ้นมา กระผม/อาตมภาพอยากจะบอกว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้มานั้น เกินกว่าปุถุชนผู้หนาด้วยกิเลสจะสามารถคาดคำนวณเอาได้ตามตรรกะทั่วไป

    สิ่งที่พระองค์ท่านตรัสรู้นั้น บาลีใช้คำว่า เกวะละปะริปุณณัง ปะริสุทธัง บริสุทธิ์บริบูรณ์สมบูรณ์แล้ว ตัดออกก็ขาด เติมเข้าก็เกิน เรามีหน้าที่อย่างเดียว ก็คือรับมาแล้วตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติตาม ไม่ใช่หิวแทบจะไส้ขาด เห็นอาหารอยู่ตรงหน้าแล้ว ก็ไปเที่ยวเขี่ยดูว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ? ใช่พ่อครัวคนเดียวกันทำหรือเปล่า ? แบบนั้นก็ปล่อยให้หิวตายไปเลย..!
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,071
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,437
    ดังนั้น..เรื่องพวกนี้จะว่าไปแล้วบางทีก็เป็นส่วนของอจินไตย คือเรื่องที่ไม่ควรคิด ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ว่ามีอะไรบ้าง ก็คือ

    ๑) พุทธวิสัย ความสามารถของพระพุทธเจ้า ต่อให้โคตรซูเปอร์คอมพิวเตอร์อย่าง "เทียนกง" ก็ไม่สามารถที่จะไล่ตามพระองค์ท่านได้ทัน

    ๒) ฌานวิสัย ความสามารถของผู้ทรงฌาน ทรงอภิญญาสมาบัติ สามารถทำในสิ่งที่เกินความสามารถของบุคคล ที่เรียกว่าอุตริมนุสธรรม ถ้าเราทำไม่ถึง เดาให้ตายก็เดาไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร ?

    ๓) กรรมวิบาก การส่งผลของกรรม ทำไมถึงพิลึกพิลั่นขนาดนั้น แค่ในเรื่อง "แฝดสยาม" อย่างเดียว กระผม/อาตมภาพเคยสงสัยว่ามันเกิดมาได้อย่างไร ปรากฏว่าได้รับคำอธิบายว่า เกิดจากคำอธิษฐานที่ว่า "เกิดชาติหน้าจะไม่พรากจากกัน" เจริญมาก..!

    และท้ายที่สุด ๔) โลกจินไตย ความเป็นไปของโลก มีใครจะนึกบ้างว่า ถ้าหากว่าเป็น ๕๐ ปีที่แล้ว เราบอกว่า "เราอยู่มุมไหนของโลกสามารถคุยกันโดยเห็นหน้าได้" สมัยนั้นใครพูดแบบนี้ เขาก็ต้องบอกว่าบ้า..!

    แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรุปว่า ผู้ที่คิดเรื่องทั้งหลายเหล่านี้พึงมีส่วนของความเป็นบ้า ท่านใช้คำว่าอุมมัตตกภาโค

    ก็ในเมื่อคนที่เขาขยันคิดแล้วมีส่วนของความเป็นบ้า เราก็ไม่ควรที่จะไปบ้าตามเขา ตั้งหน้าตั้งตารับเอาพระธรรมมาแล้วก็ปฏิบัติตามไป เพราะว่าถ้าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ไม่เป็นความจริง ไม่ดีจริง ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติแล้วบรรลุมรรคผล ก็มีมากมายเป็นพยานอยู่ เสียเวลาที่เราจะไปสงสัย ตั้งใจทำให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองเป็นดีที่สุด

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันอังคารที่ ๓๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...