เรื่องเด่น เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๘

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 21 เมษายน 2025 at 22:32.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,469
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,718
    ค่าพลัง:
    +26,577
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๘


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,469
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,718
    ค่าพลัง:
    +26,577
    วันนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๘ เป็นวันหาหมอและนัดกับสาว ๆ เอาไว้ ก็คือนัดให้บุคคลที่นิมนต์ไปยังธรรมศาลา ประเทศอินเดีย เพื่อสักการะองค์ดาไลลามะ นำเอากำหนดการเดินทางมาส่ง และผู้ที่นิมนต์ไปเส้นทางสายไหม โดยเฉพาะถ้ำโม่เกาคู นำเอาโปรแกรมมาส่ง

    กระผม/อาตมภาพจะได้กำหนดเวลาที่เหมาะสมให้ ไม่เช่นนั้นแล้วถ้าติดภารกิจสำคัญของทางคณะสงฆ์ ต่อให้ได้เดินทางไปฟรี ก็ไม่มีความสามารถที่จะไปได้

    สำหรับวันนี้ก็ขอมา "เล่าความหลัง" กันต่อ เมื่อวานนี้ได้พูดถึงเรื่องของลิเก ที่เป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งของคนยุคนั้น กระผม/อาตมภาพได้ความรู้สำคัญมาจากนายโรงลิเก โดยที่ไม่คิดเหมือนกันว่าบุคคลยุคเก่าจะมีปฏิภาณไหวพริบว่องไวขนาดนั้น..!

    ถ้าหากว่าท่านใดเรียนวรรณคดีเรื่องสังข์ทองมา ซึ่งจะเริ่มต้นว่า "มาจะกล่าวบทไป ถึงท้าวสามลเรืองศรี เสวยราชสมบัติสวัสดี ในบุรีสามลพระนคร อันองค์เอกอัครชายา ชื่อมณฑาเทวีศรีสมร มีธิดานารีร่วมอุทร ทั้งเจ็ดนามกรต่างกัน น้องนุชสุดท้องชื่อรจนา โสภาเพียงนางในสวรรค์ พรั่งพร้อมพระสนมกำนัล เป็นสุขทุกนิรันดร์วันคืน"

    ซึ่งพระราชธิดาทั้ง ๗ องค์ของท้าวสามนต์นั้น เราก็จะได้ยินชื่อแค่นางรจนา ซึ่งเป็นเนื้อคู่ของเจ้าเงาะ หรือว่าพระสังข์ของเราเท่านั้น
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,469
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,718
    ค่าพลัง:
    +26,577
    การเล่นลิเกสมัยก่อนเขาเล่นกันถึงลูกถึงคนมาก ขนาดอยู่ในวงเดียวกัน ก็ยังมีการ "หักกัน" ขึ้นมา บางคนกลับขึ้นมาเป็นนายวงแทน ทั้ง ๆ ที่เคยเป็นลูกวงอยู่ อย่างที่เพื่อนพระของกระผม/อาตมภาพ ก็คือท่านอาจารย์กระโจมทอง จนฺทโชโต วัดเขาสามชั้น ท่านเป็นนายวงลิเกมาก่อน

    แต่ว่าอีกรายหนึ่งก็คือท่านพระครูสุธรรมกาญจนาภรณ์ (บูรพา กาญฺจนธโร) เจ้าอาวาสวัดถ้ำเสือดาว ตอนนั้นท่านเล่นเป็นตัวร้าย คราวนี้อยากจะเล่นเป็นพระเอกบ้าง ในเมื่อขอแล้วไม่ได้ ก็มีการแยกวงไปเพื่อที่จะเล่นเป็นตัวเอกเอง แต่ในสมัยก่อนนั้น เขา "หักกัน" ว่าถ้าใครมีความสามารถมากกว่า ก็สามารถขึ้นมาเป็นนายวงได้

    ดังนั้น..เมื่อนายวงซึ่งเล่นเป็นท้าวสามลบอกกับเสนาที่เป็นลูกวงว่า ให้ไปตามราชธิดาทั้ง ๗ มา เพื่อที่จะแจ้งข่าวให้ทราบว่าจะมีการเสี่ยงพวงมาลัยเลือกคู่ เสนาก็ถามกลับมาว่า "ขอพระราชทานอภัยพะยะค่ะ เกล้าฯ เรียกถูกแต่พระราชธิดาองค์สุดท้อง คือนางรจนาเท่านั้น ขอพระองค์โปรดประทานนามของพระราชธิดาใหญ่อีก ๖ พระองค์ให้ด้วย..พระเจ้าข้า"

    ถ้าหากว่าเป็นพวกเราก็คงตายสนิท..! เพราะว่าในวรรณคดีไม่เคยกล่าวถึง แต่นายวงนั้นเชาว์ไหวพริบปฏิภาณว่องไวมาก บอกว่า "อ้อ..ที่แท้เจ้าเป็นเสนาใหม่ ยังไม่รู้พระนามของพระราชธิดา เราจะบอกกล่าวให้ฟังดังนี้ ราชธิดาทั้ง ๗ ของเรามีนามกรว่า "มะลิวัลย์ จันทนา สารภี ยี่สุ่นเทศ เกศเมือง เรืองยศ รจนา" เจ้าจงจำให้แม่นไว้"

    กระผม/อาตมภาพก็เพิ่งจะได้ความรู้มา จากปฏิภาณไหวพริบของบรรดานายโรงลิเกนี้เอง เราจะเห็นได้ว่าบุคคลที่เป็นนายโรงนั้น ต้องมีความสามารถจริง ๆ ขนาด "โดนหัก" ซึ่ง ๆ หน้า ยังสามารถที่จะเอาตัวรอดไปได้อย่างง่ายดาย..!

    แล้วเมื่อวานยังนี้ได้กล่าวถึง "หม้อเขียว" ใส่น้ำตาลเมา ขอบอกท่านทั้งหลายว่าน้ำตาลเมานั้นเป็นของผิดกฎหมายเช่นกัน ถ้าเจ้าหน้าที่สรรพสามิตมาถึง เขาก็ต้องหาลูกเล่น ลูกล่อ ลูกชนต่าง ๆ เพื่อที่จะทำลายหลักฐาน ไม่ให้รู้ว่ามีน้ำตาลเมา ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะโดนจับไป "ปรับไหม" อย่างที่ภาษาโบราณเขาเรียกกัน จึงต้องมีการหาสถานที่ซ่อนเอาไว้ อย่างชนิดที่เจ้าหน้าที่คิดไม่ถึง..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,469
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,718
    ค่าพลัง:
    +26,577
    สถานที่หนึ่งซึ่งกระผม/อาตมภาพเจอเข้า ก็คือโคนกอไผ่สีสุก กอไผ่สีสุกนั้นเป็นไม้ไผ่หนาม ถึงเวลาบรรดารุ่นลุง รุ่นอา หรือว่ารุ่นพ่อ เขาก็จะเลาะหนามเข้าไป อยู่ในลักษณะ "ช่องหมาลอด" ก็คือพอดีตัว แล้วก็เอาเสียมไปขุดแถวโคนกอไผ่เป็นหลุม ซ่อนไหใส่น้ำตาลเมาเอาไว้ในนั้น แล้วนำเอาแขนงไผ่หนามเหล่านั้น มารวมกันเป็นก้อน ใช้เถาวัลย์มัดแล้วดึงเข้าไปปิด ถึงเวลาจะออกมาค่อยถีบเปิดออกมา เพื่อป้องกันไม่ให้สรรพสามิตเข้าไปจับได้..!

    หนามไผ่นั้นสามารถที่จะป้องกันได้ทั้งคนและสัตว์ร้าย ท้ายที่สุดก็ป้องกันเจ้าหน้าที่ด้วย จึงมีการปลูกกอไผ่ล้อมเป็นรั้วบ้าน ใครมีที่ดินอยู่ตรงไหนก็มักจะปลูกกอไผ่ไว้ตามแนวที่ดินของตน แต่ว่ากอไผ่นั้นมีอันตรายอยู่อย่างหนึ่ง ก็คือพอหน้าแล้ง ใบไผ่ร่วงมาก ๆ ถ้าหากว่าเผลอก็อาจจะมีไฟไหม้ ถ้าแนวกอไผ่ใกล้บ้าน บางทีก็พลอยไหม้บ้านไปด้วย..!

    ส่วนคำว่า "หม้อเขียว" นั้น ความจริงก็เป็นหม้อโลหะเคลือบสี มีทั้ง สีน้ำเงิน สีเขียว สีแดง สีขาว เป็นต้น แต่ด้วยความที่ว่าสีน้ำเงินได้รับความนิยมในการใช้มากที่สุด แล้วคนโบราณก็เรียกสีไม่เหมือนกับสมัยของเรา ดังนั้น..จึงเรียกสีน้ำเงินว่าสีเขียว เมื่อเจอหม้อเคลือบขนาดนั้นเข้า จึงพากันเรียกว่า "หม้อเขียว" กันหมด เรียกไปเรียกมาบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นหม้อสีอะไร ถ้ารูปร่างหน้าตาแบบนั้นก็เรียกว่า "หม้อเขียว" กันหมดทุกสี

    เพราะว่าสีเขียวนั้น ไม่ว่าจะเป็นสีดำเข้ม ที่เรียกว่าดำจนเขียว บางทีเขาก็เรียกว่าสีเขียว อย่างเช่นว่าม้าหรือหมา สีเขียวปนดำ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าสีน้ำตาลเข้มจนดำ บางทีเขาก็เรียกว่าม้าสีกะเลียว ก็แปลว่า เขียวอีกแบบหนึ่งก็คือสีกะเลียว แล้วยังมีสีขาบ ซึ่งก็คือสีน้ำเงินเข้ม แล้วก็สีคราม ก็คือสีฟ้า หรือว่าสีน้ำเงินอ่อน ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีสีน้ำทะเล หรือว่าสีฟ้าในลักษณะที่เราเรียกว่าสีฟ้าเทอร์ควอยซ์ หรือว่าสีพลอยขี้นกการะเวก ในเมื่อเป็นเช่นนั้น จึงต้องสื่อสารกันให้ชัดเจนว่า ทำไมถึงเรียกว่า "หม้อเขียว" ?

    "หม้อเขียว" นี้ต้องบอกว่าเป็นความเจริญที่เข้ามาถึงแล้ว เพราะว่าแต่แรกเริ่มนั้นจะใช้ถังไม้ ซึ่งจะเป็นการที่เอาแผ่นไม้มาทำ แล้วเข้าลิ้นเข้ารางกันเป็นวงกลม มีการปิดฐานทางด้านใต้ แล้วรัดเอาไว้ด้วยวงเหล็ก กว่าที่จะนำเหล็กเข้าไปได้แล้วตอกหมุดปิด ก็จะต้องเผาไฟเพื่อที่จะให้เหล็กขยายตัว ถึงเวลาหดกลับเข้าไปจะได้รัดแน่น บรรดาถังไม้นี้ใช้ได้หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นการบรรจุข้าวของ บรรจุอาหาร บรรจุข้าวสวย ตลอดจนกระทั่งบรรจุน้ำ แรก ๆ น้ำก็จะรั่วซึมได้บ้าง แต่พอไม้โดนน้ำแล้วไม้เกิดการยืดตัวขึ้นมา ก็จะปิดรอยรั่วซึมไปเอง โดยที่ไม่ต้อง "ยาแนว"
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,469
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,718
    ค่าพลัง:
    +26,577
    หลังจากนั้นพอความเจริญเข้ามาถึง ก็มีการใช้สังกะสีมาทำเป็นถังน้ำ โดยที่มีวิธีการตัดแล้วก็เอามาบัดกรีให้เป็นรูปถัง มีส่วนหูซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเหล็ก งอแล้วก็เกี่ยวเอาไว้ สามารถที่จะใช้ไม้คานหาบ แต่ว่าถ้าหาบโดยตรงก็มักจะไม่ถนัด เขาก็จะมี "สายยู" ก็คือในลักษณะเหล็กตะขอ ยาวลงมาสักศอกเศษ ๆ ถ้าเป็นคนตัวสูงบางคน ก็อาจจะทำ "สายยู" ยาวเป็นเมตรเลย เอาไว้สำหรับเกี่ยวหูถัง ถึงเวลาก็หาบน้ำเข้าบ้าน หาบข้าวของเข้าบ้าน เหล่านี้เป็นต้น

    มากล่าวถึงความบันเทิงของเด็ก ๆ กันบ้าง เด็กในสมัยนั้นก็จะมีการเล่นลูกหิน เล่นหนังยาง การเล่นหนังยางนั้นมีทั้งเอายางหนังสติ๊กสำหรับผูกถุงพลาสติกอย่างสมัยนี้ มารวมกันหลาย ๆ เส้นเข้า แล้วก็ต่อเป็นเส้นยาว สำหรับในการที่จะทำเป็นเชือกกระโดด แล้วก็มีการกระโดด มีทั้งกระโดดสูง กระโดดต่ำ กระโดดแบบเขย่งเกี่ยวหนังยางด้วย

    แต่ถ้าหากว่ามีน้อย ก็เอามาแข่งเป่ากบ หรือว่าแข่งทอยกองกัน เป่ากบก็คือการที่จะเป่าหนังยางของเราให้ไปทับยางของคนอื่น แล้วก็จะ "ยึด" หรือว่า "กิน" ก็คือได้ยางเส้นนั้นไป..!

    ถ้าหากว่าทอยกอง ต่างคนต่างก็นำเอาหนังยางจำนวนหนึ่ง อย่างเช่นว่า คนละ ๓ เส้น ๕ เส้นมารวมกัน ถ้าหากว่าคนเล่นมาก ๆ เป็น ๑๐ คน ก็จะเป็นหอบใหญ่ทีเดียว แล้วก็จะมีหลัก ซึ่งเอาไปปักเอาไว้ห่างจากเราไปประมาณสัก ๓ - ๔ เมตร จากนั้นก็ขีดเส้นเป็นเขตกำหนด ให้เท้าเหยียบเอาไว้ที่เส้นนั้น เสี่ยงหาลำดับกัน แล้วก็ทอยเอาหนังยางลงไปที่หลักซึ่งปักเอาไว้ตามลำดับ เข้าหลักไปเท่าไร คนทอยก็ก็ได้หนังยางจำนวนนั้นไป เหล่านี้เป็นต้น แต่ว่าคนที่ทอยเก่ง ๆ เราก็มักจะไม่เล่นด้วย เพราะบางคนทอยทีเดียวได้หนังยางไปทั้งกองเลย..!

    ส่วน "ลูกหิน" นั้น ตอนหลังพัฒนามาเป็น "ลูกแก้ว" ด้วย มีการดีดลูกหินด้วยนิ้วมือ อยู่ในลักษณะที่แข่งขันกันว่า เราจะดีดลูกหินของคนอื่นไปได้ไกลเท่าไร แล้วตนเองสามารถที่จะทอยลูกของตนเองไปในหลุมได้หรือไม่ ? ถ้าหากว่าทำได้สำเร็จ ก็จะถือว่าจบเกม ไปยืนรอ จนกว่าคนอื่นจะจบตามไป บางทีก็แข่งขันเขกเข่ากัน ผู้ชนะก็จะเขกคนแพ้ บางทีเข่าบวมจนร้องไห้ไปเลยก็มี..!
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,469
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,718
    ค่าพลัง:
    +26,577
    อีกเรื่องหนึ่งก็จะเป็นเกมของเด็ก ๆ ประมาณว่าเล่นตี่จับ เล่นแม่งู หรือว่าในส่วนของผู้หญิง ก็จะมีการเล่นมอญซ่อนผ้า เล่นรีรีข้าวสาร เป็นต้น ซึ่งเกมการเล่นสมัยนั้น เด็ก ๆ สมัยหลัง ๆ ส่วนใหญ่เล่นกันไม่เป็นแล้ว

    อีกอย่างหนึ่งก็คือเล่นหมากเก็บ ซึ่งจะใช้ก้อนหิน หรือว่าสิ่งของที่ตนเองคัดเลือกแล้วว่าหยิบเก็บได้ถนัด เอามาเล่นกัน ซึ่งจะมีการกำหนดเป็น แม่ ๑ แม่ ๒ แม่ ๓ แม่ ๔ ถ้าหากว่าทอยหมากลงไปแล้ว ก็เก็บขึ้นมาเม็ดหนึ่งเป็น "ตัวแม่" ถ้าหากว่าเป็นหมาก ๑ ก็จะโยน "ตัวแม่" เม็ดที่เราเก็บขึ้นไป แล้วก็หยิบเอาเม็ดข้างล่างขึ้นมา ๑ เม็ด พร้อมกับรับ "ตัวแม่" ที่เราโยนแล้วตกลงมาเอาไว้ให้ได้ ถ้าหากว่าเก็บได้ครบทุกเม็ด ก็จะเป็นหมาก ๒ ก็คือต่อไปต้องเก็บ ๒ เม็ด ถ้าเป็นหมาก ๓ ก็เก็บ ๓ เม็ด ถ้าเป็นหมาก ๔ ก็เก็บ ๔ เม็ด เหล่านี้เป็นต้น

    แล้วการเก็บนั้น หมาก ๑ ก็ไม่ค่อยเท่าไรนัก เพราะว่าเรามักจะหว่านกระจายห่าง ๆ กัน แต่ว่าหมาก ๒ หมาก ๓ หมาก ๔ นั้น ต้องมีเทคนิคในการหว่านอย่างไรให้อยู่ใกล้เคียงกัน แล้วขณะเดียวกัน ตอนเก็บรวบเข้ามาก่อนที่จะรับ "ตัวแม่" นั้น ก็จะต้องไม่ให้กระทบหมากอื่นที่เราไม่ได้รวบ ไม่เช่นนั้นเขาเรียกว่า "ตาย" ต้องสละสิทธิ์ให้คนอื่นเขาเล่นต่อไป

    หรือว่าผู้หญิงก็มาเล่นอีตัก ซึ่งใช้เมล็ดมะขามส้มก็ดี เมล็ดมะขามเทศก็ดี หรือว่าเมล็ดน้อยหน่า แล้วก็ทำภาชนะสำหรับตัก ส่วนใหญ่ก็ใช้ใบไม้ ถ้าหากว่าใช้ใบมะพร้าวมาตัด เจียนให้ได้มุม จะเป็นอะไรที่ตักได้ถนัดที่สุด ก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน ก็คือจะเริ่มตักตั้งแต่ ๑ เม็ดขึ้นไป แล้วที่เป็นส่วนที่พวกเราชอบที่สุดก็คือ ถ้าตักได้ก็เป็นสิทธิ์ของเราไปเลย แต่ถ้าตักแล้วกระทบเม็ดอื่น หรือตักได้เกินจำนวน ก็ "ตาย" ต้องให้คนอื่นเขาตักต่อไปเช่นกัน

    ในยุคสมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้า ส่วนใหญ่ก็จะเป็นตะเกียงกระป๋อง ซึ่งเป็นกระป๋องสังกะสีทาสีแดง ๆ จะใช้น้ำมันพืชบ้าง น้ำมันก๊าดบ้าง ใส่เอาไว้เป็นเชื้อเพลิง ถึงเวลาก็จุด มีควันดำ ๆ ถ้าหากว่าลูกบ้านไหนขยันอ่านหนังสือ พอรุ่งเช้าล้วงจมูกตนเอง ขี้มูกจะดำปี๋เลย..! เพราะว่าหายใจเอาควันจากตะเกียงกระป๋องเข้าไปอยู่ในจมูกของตนเอง..!
     
  7. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,469
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,718
    ค่าพลัง:
    +26,577
    ถ้ามีงานใหญ่ ๆ แล้วไม่มีไฟฟ้า ก็จะมีตะเกียงเจ้าพายุ ซึ่งเป็นตะเกียงที่มีโคมแก้วกันลม แล้วก็มีไส้ซึ่งทำด้วยใยหิน จะมีการบรรจุน้ำมันก๊าดเข้าไป แล้วใช้แอลกอฮอล์เป็นตัวล่อ ถึงเวลาก็เผาหัวให้ร้อน เมื่อร้อนได้ที่แล้วก็จะมีสูบให้สูบลม ถึงเวลาพอสูบลมได้ที่ ก็จะทำให้น้ำมันก๊าดนั้นฉีดเป็นฝอยเข้าไป หล่อเลี้ยงจนกระทั่งแร่ใยหินนั้นลุกสว่างโพลงขึ้นมา ซึ่งในสมัยนั้น พวกเราเห็นว่าสว่างกว่าพระจันทร์วันเพ็ญเสียอีก..! แต่ว่ามีจุดอ่อนอยู่เหมือนกัน ก็คือพักใหญ่ ๆ ก็ต้องไปสูบลมเพิ่ม ไม่เช่นนั้นแล้วถ้าหากว่าลมหมด ตะเกียงก็จะดับลง หรือถ้าน้ำมันหมด ตะเกียงก็จะดับลงเช่นกัน

    ส่วนใหญ่เอาไว้ใช้ในงานใหญ่ ๆ อย่างเช่นว่างานแต่ง งานบวช ที่จะต้องมีการเตรียมข้าวเตรียมของจนค่ำคืน หรือไม่ก็ใครมีฐานะดีก็ไปเช่าเครื่องปั่นไฟ ซึ่งจะมีหลอดไฟแบบที่ปัจจุบันเรียกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์บ้าง หลอดกลมบ้าง เอาไว้สำหรับใช้ในงานของตน แสดงออกซึ่งฐานะว่าร่ำรวยพอ ถึงสามารถที่จะปั่นไฟฟ้าใช้เองได้

    ตะเกียงอีกแบบหนึ่งนั้น ส่วนใหญ่เอาไว้ "ส่องกบ" ก็คือตะเกียงแก๊ส จะเอาก้อนแก๊สอะเซทิลีนบรรจุเข้าไป แล้วเทน้ำใส่ ก้อนแก๊สนั้นก็จะละลายแล้วก็เป็นไอแก๊สขึ้นมา ถึงเวลาเราเปิดแก๊สแล้วจุด จะเป็นเปลวยาว ๆ โดยที่มีกรวยเคลือบสังกะสีเงา ๆ อยู่ ทำให้ช่วยเพิ่มแสงสว่างได้

    ถ้าหากว่าบ้านคนมีเงินหน่อยก็จะใช้ในการส่องกบ ถ้าไม่มีเขาก็จะใช้ไต้ หรือบางคนเรียกว่า "ขี้ไต้" ซึ่งเป็นเศษไม้ป่น ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นขี้เลื่อย ผสมกับน้ำมันยาง แล้วก็ห่อด้วยเปลือกไม้ บ้าง ใบไม้บ้าง มัดเป็นเปลาะ ๆ จนกระทั่งภายหลังใครมัดอะไรเป็นเปลาะ ๆ อย่างเช่นว่า มัดขนมข้าวเหนียวนึ่ง เขาก็จะเรียกกันว่า "ขนมมัดไต้" เป็นต้น

    ถึงเวลาก็จุด แล้วก็เอาไปส่องกบ หรือว่าเดินทางตอนกลางคืน แล้วก็มักที่จะมืดมิดแล้วก็จะดับลงอยู่ตลอดเวลา ต้องคอยเขี่ยขี้ไต้เอาไว้ เพื่อที่ให้ของเก่าร่วงหล่นไป แล้วของใหม่ก็จะได้ติดสว่างขึ้นมาตามเดิม
     
  8. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,469
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,718
    ค่าพลัง:
    +26,577
    มาภายหลังก็พัฒนาขึ้นมาเป็น "ไฟฉาย" ไม่ว่าจะเป็นไฟฉายสองท่อน หรือว่าไฟฉายสามท่อน ก็คือใส่ถ่านกี่ก้อน ก็เรียกตามที่ใส่ ถ้าใส่ถ่านห้าก้อนก็เป็นไฟฉายห้าท่อน ส่วนที่นิยมก็คือไฟฉายตราหัวเสือ แต่ต้องใช้กับถ่านไฟฉายตราม้าขาว ตอนหลังคู่แข่งสำคัญปรากฏขึ้นก็คือถ่านไฟฉายตรากบ ทำให้เด็ก ๆ สามารถร้องเพลงโฆษณาถ่านไฟฉายตรากบได้ทั้งบ้านทั้งเมือง ซึ่งเริ่มต้นว่า

    "ต้นตระกูลผมแต่ปางบรรพ์ หลังย่ำสายัณห์ดวงตะวันเลี่ยงหลบ จะเดินทางเยื้องย่างไปไหน จำเป็นต้องใช้จุดไต้จุดคบปัจจุบันเห็นจะไม่ดี ขืนจุดไต้ซีถ้ามีใครพบ อาจจะอายขายหน้าอักโข เขาต้องฮาต้องโห่ว่าผมโง่บัดซบ

    ยุคนี้มันต้องทันสมัย เพื่อนผมทั่วไปใช้ถ่านไฟตรากบ ทั้งวิทยุและกระบอกไฟฉาย คุณภาพมากมายสะดวกสบายครันครบ ถ่านก็มีหลายอย่างวางกอง เขากลับรับรองว่าต้องแพ้ตรากบ เหตุและผลเขาน่าฟังครับ ขอให้ลองสดับนะท่านที่เคารพ"


    แล้วก็เป็นคำพูดที่บอกว่าถ่านไฟฉายของเขาดีอย่างไร เพื่อใช้โฆษณาสรรพคุณของถ่านไฟฉายของเขา ว่าสามารถที่จะให้ความสว่างขนาดไหน
    เพื่อให้เราไปซื้อของเขามาใช้นั่นเอง เหล่านี้เป็นต้น

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันจันทร์ที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๘
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...