บทความให้กำลังใจ(ธรรมเพื่อสุขภาวะบนวิถีความพอเพียง)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    52,226
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,073
    (ต่อ)
    ความพอเพียงก็คือว่า คุณยังต้องทำเหมือนเดิม ทำ 1 วัน คุณได้มา 45 บาท คุณใช้ 30 ที่เหลืออีก15 บาท คุณไม่ได้เอามาใช้ในการบริโภคเพิ่มเติม แต่ว่าเอาไปใช้ทำประโยชน์ให้แก่สังคม เอาไปให้วัดให้วา ทำบุญทำกุศลหรือว่าช่วยเหลือคนที่เดือนร้อน นี่คือ “วิถีชีวิตพอเพียง” ในความหมายของหลักพุทธศาสนาคือ บริโภคน้อยแต่ทำมาก มีเวลาอยู่กับครอบครัว มีเวลาช่วยเหลือสังคมด้วยและก็มีเวลาอยู่กับตัวเองในการปฏิบัติธรรม

    ทัศนคติพื้นฐานเพื่อพัฒนาสุขภาวะ : ปัจจัยกำหนดสุขภาวะ
    ทัศนะคติพื้นฐานที่นำไปสู่สุขภาวะทั้ง 4 ประการ ได้แก่
    หนึ่ง คิดถึงส่วนรวม คิดถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเอง เวลานี้คนไทยคิดถึงตัวเองมากกว่าคนอื่น จะทำอะไรก็จะถามว่าทำแล้วฉันจะได้อะไร ไม่เคยถามว่าทำแล้วสังคมจะได้อะไร การรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นไปได้ยากลำบากมาก เพราะรณรงค์สิ่งแวดล้อมต้องทำให้คนคิดถึงส่วนรวมมากกว่าความสะดวกสบายส่วนตัว ทำไมไม่ควรใช้โฟม หรือเปิดแอร์เต็มที่ ก็เพราะมันก่อปัญหาแก่ส่วนรวม คนเราจะไม่ใช้โฟมหรือไม่เปิดแอร์ฟุ่มเฟือยก็ต่อเมื่อคิดถึงส่วนรวมมากกว่าความสะดวกสบายส่วนตัว แต่คนไทยตอนนี้คิดถึงตัวเองมากกว่าส่วนรวม คิดถึงตนเองมากกว่าคนอื่น คิดถึงตัวเองมากกว่าลูก คิดถึงตัวเองมากกว่าผัวหรือเมียด้วยซ้ำ

    สอง เห็นว่าความสุขไม่ได้เกิดจากวัตถุอย่างเดียวแต่มาจากที่อื่นด้วย ตอนนี้มีการรณรงค์ “ไม่ซื้อก็สุขได้” คนมักจะคิดว่ามีความสุขจากการซื้อ แต่อาตมาคิดว่าไม่พอ ต้องบอกว่า “สุขได้เพราะไม่ซื้อ” ซื้อแล้วทุกข์ไม่รู้ว่าจะเก็บไว้ที่ไหน ไม่รู้จะเที่ยวที่ไหนเพราะมีเงินมากเหลือเกิน ทุกข์เพราะซื้อมากเหลือเกิน บางคนมีเสื้อมากไม่รู้จะใส่ตัวไหน มีรองเท้าเป็นพันคู่เครียดไม่รู้จะใส่คู่ไหน แต่ที่จริง ความสุขหาได้จากการทำงานและเสียสละ เช่น โครงการจิตอาสา ชวนคนทำความดี มีความสุขได้โดยทำความดี มีคนหนึ่งเขาไปนวดเด็กที่บ้านปากเกร็ด (เป็นเด็กกำพร้า กล้ามเนื้อลีบเพราะไม่มีใครอุ้ม) 2-3 ครั้งทุกสัปดาห์ เดิมเขาเป็นไมเกรน แต่การทำเช่นนี้ทำให้เขาหายไมเกรน ลืมกินยาไปเลย เด็กให้ความสุขแก่เขามาก ไม่ใช่เขาไปให้ความสุขแก่เด็กเท่านั้น กรณีนี้เป็นตัวอย่างการได้รับความสุขที่ไม่ได้มาจากการบริโภคเพียงอย่างเดียว

    ตอนนี้คนไทยวัยรุ่น หนุ่มสาวไม่ค่อยเข้าใจ แต่เมื่อเขาได้ทำเขาจะรู้ได้และพบว่า ความสุขเป็นเรื่องที่ท้าทาย และเป็นสิ่งที่เงินทองซื้อไม่ได้

    สาม พึ่งพาน้ำพักน้ำแรงและความเพียรพยายามของตนเอง ไม่หวังลาภลอยคอยโชคและรวยลัด เช่น เล่นการพนัน เล่นหวย หวังพึ่งแต่จตุคามรามเทพ (ซึ่งแม้ทุกวันนี้จะตกสมัยแล้วสิ่งศักดิ์สิทธิอื่นก็มาแทนที่) การโกงข้อสอบ การคอรัปชั่น เป็นผลมาจากความคิดว่าทำอย่างไรจะรวยโดยไม่ต้องเหนื่อย นักศึกษาก็คิดว่าทำอย่างไรจะเรียนดีได้โดยไม่ต้องเหนื่อย ทำอย่างไรจะได้คะแนนดีโดยไม่ต้องสอบ ถ้าไม่โกงก็ไปขอคะแนนจากอาจารย์ โดยการให้บริการพิเศษแก่อาจารย์เพื่อที่จะได้คะแนนดี

    สี่ คิดดี คิดเป็น เห็นตรง ไม่คิดเอาแต่ใจตนเอง คือ รู้จักคิด คิดเกื้อกูลคิดเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เอาความถูกต้องเป็นหลัก ความถูกใจเป็นรอง

    นี่คือทัศนคติที่จะนำไปสู่สุขภาวะ 4 ประการ

    สิ่งแวดล้อมที่เสื่อมถอย: อุปสรรคของการเกิดทัศนคติพื้นฐาน

    อยากจะย้ำว่าทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่ปัจจัยส่วนบุคคล เมื่อกล่าวถึงสุขภาวะไม่ว่าของคนหรือสังคมมี 2 ด้านที่จะพิจารณาคือ “ทัศนคติ และสิ่งแวดล้อม” ทัศนคตินี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยสิ่งต่างๆ สิ่งแวดล้อม ระบบการศึกษา สื่อสารมวลชน อาศัยสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลด้วย แต่ปัจจุบันทัศนคติพื้นฐานเกิดขึ้นได้ยากเพราะสิ่งแวดล้อมชักนำไปในทางไม่ดีหรือไม่เกื้อกูล

    ยกตัวอย่างง่าย ๆ อิทธิพลของพื้นที่เสี่ยง หมายถึง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ซึ่งถือเป็นพื้นที่เสี่ยง มีงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของเยาวชน พบว่า มีความสัมพันธ์อย่างมากกับจำนวนพื้นที่เสี่ยง เช่น ที่จังหวัดระยองมีพื้นที่เสี่ยงอยู่ประมาณ 340 แห่งต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งมีสูงมากถึง 40 เท่า ของอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ ที่มี 29 แห่งต่อประชากร 100,000 พื้นที่เสี่ยงเหล่านี้จะไปสัมพันธ์กับพฤติกรรมของเด็กเยาวชนในจังหวัดระยองที่มีปัญหาสูงมาก เช่น เด็กอยู่ในสถานพินิจ 119 ต่อ 100,000 คน เป็น 2 เท่าของอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ อัตราผู้ขอรับการบำบัดยาเสพติด 802 ต่อ 100,000 คน เป็น 10 เท่าของอัตราเฉลี่ยทั้งประเทศ เยาวชนตั้งครรภ์ก่อนอายุ 14 ปี อัตราเฉลี่ย 90 คนต่อ 100,000 คน คือสูงเกือบ 4 เท่าของอัตราเฉลี่ย ส่วนการทำแท้งไม่มีตัวเลข แต่จำนวนเด็กคลอดก่อนอายุ 19 ปี มีถึง 2,772 คน หรือคิดเป็น 2 เท่าของอัตราเฉลี่ยของทั้งประเทศ เด็กถูกละเมิดทางเพศที่อายุไม่เกิน 18 ปี คิดเป็น 22 คนต่อ 100,000 คน นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับ 6 คนต่อ ๑๐๐,๐๐ ซึ่งเป็นอัตราเฉลี่ยทั้งประเทศ

    จึงสังเกตได้ว่าจังหวัดระยองมีอัตราเสียงที่เกิดจากพื้นที่เสียงสูงมากสัมพันธ์กับพฤติกรรมของเด็ก และถ้าเทียบกับจังหวัดตราดที่มีพื้นที่เสี่ยง 37 แห่งต่อประชากร 100,000 คน (เกือบเท่าอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ 29 แห่ง) พื้นที่ดี (เช่น วัด ห้องสมุด สนามกีฬา) 130 แห่งต่อประชากร 100,000 คน จังหวัดตราดจึงมีปัญหาพฤติกรรมเยาวชนต่างจากระยองมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะระยองเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาสูง

    เทียบตัวชี้วัดตัวนี้ตัวเดียว จะเห็นว่าสุขภาวะทางสังคมอยู่ในภาวะที่แย่มาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจัยแวดล้อม คือ พื้นที่เสี่ยง ยังไม่ได้พูดถึงสื่อมวลชน ศูนย์การค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ระบบการศึกษา
    ระบบการศึกษาหรือโรงเรียนตอนนี้ก็ล้มเหลว ไม่อาจทำหน้าที่ให้การศึกษากับเยาวชนได้ อาจกล่าวได้ว่า บางทีอยู่โรงเรียนเสี่ยงเจ็บตัวกว่าอยู่ข้างนอก จะถูกซ้อมเมื่อไหร่ก็ได้ มีการตบตี เพราะมีขาใหญ่ แม่เล้า ที่สามารถชักจูงเพื่อนๆ ไปขายตัว โดยครูอาจจะไม่ได้ช่วยเหลือ ไม่ต้องพูดถึงช่วงรับน้องใหม่ ซึ่งเสี่ยงที่จะตายได้ หรือเจ็บตัวได้ ระบบโรงเรียนเวลานี้ไม่ทำงานเช่นเดียวกับครอบครัว ระบบการศึกษามักส่งเสริมทัศนคติเรื่องการบริโภค สอนให้รู้จักทางลัดใครรู้จักประจบประแจงครูก็ได้เกรดดี สิ่งเหล่านี้เป็นหลักสูตรแอบแฝง หลักสูตรทางการนี้สวยงาม ส่วนหลักสูตรแอบแฝงคนละเรื่อง แต่มีอิทธิพลต่อเด็กมากกว่าหลักสูตรทางการหรือหลักสูตรปกติ

    ระบบการศึกษา สื่อมวลชน ทั้งหมดนี้ก็เชื่อมโยงไปถึงนโยบายทางสังคม นโยบายการศึกษา รวมทั้งระบบเศรษฐกิจที่ทำให้คนเห็นว่า ความขยันหมั่นเพียรไม่มีประโยชน์ สู้ใช้เส้นทางลัด สู้วิธีการคอร์รัปชั่นไม่ได้ เช่น นายทุนท้องถิ่นมักทำให้คนคิดว่าการรวยทางลัดดีกว่าการพึ่งพาน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง อันนี้เป็นเรื่องของระบบเศรษฐกิจที่บ่มเพาะทัศนคติแบบนี้ขึ้นมา คนเลยคิดว่าวิถีชีวิตพอเพียงเป็นเรื่องตลก เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่เห็นใครพอเพียงสักคน และไม่คิดว่าความพอเพียงอาจจะเป็นทางออกของชีวิตได้ ความหลงผิดเกี่ยวกับชีวิต ทรัพย์สินเงินทอง และความสุข จึงหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ
    ธรรม สุขภาวะ กับนโยบายสาธารณะ
    ปัญหาเรื่องความเชื่อมโยงของปัจจัยทางสังคม มีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาวะแต่ละด้านมาก เช่น เรื่องอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นเรื่องสุขภาวะทางกาย
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    52,226
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,073
    (ต่อ)
    เมืองไทยมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาล ซึ่งพบว่ามันเชื่อมโยงกับปัจจัยอื่นที่ไม่เกี่ยวกับปริมาณถนน ผิวถนน คุณภาพถนน แต่เกี่ยวกับพฤติกรรมของคนซึ่งเชื่อมโยงกับกฎหมาย เช่น จังหวัดขอนแก่น เมื่อเริ่มรณรงค์ให้เคารพกฎจารจร และใช้หมวกกันน็อก ปรากฏว่าสามารถลดอุบัติเหตุได้มาก นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย หัวหน้าศูนย์อุบัติเหตุ โรงพยาบาลขอนแก่น ให้สัมภาษณ์บอกว่า

    “ผมผ่าตัดคนไข้มาทั้งชีวิต ยังช่วยคนได้น้อยมากถ้าเทียบกับการรณรงค์ให้คนใส่หมวกกันน็อกแค่ 6 เดือนก่อนหน้านั้น”
    หมวกกันน็อก จึงเป็นเรื่องของนโยบายสาธารณะ ซึ่งสัมพันธ์กับสุขภาวะโดยตรง เมื่อเราพูดถึงเรื่องยาเสพติด เรื่องโรคเอดส์ ก็เป็นเรื่องสุขภาวะทางกาย แต่มันก็มีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางสังคมอื่นๆ มากมาย เช่น ความไม่รู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจ การส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งมีอุตสาหกรรมทางเพศมาเกี่ยวข้อง ทำให้โรคเอดส์ระบาด การมีผู้หญิงมาทำงานทางเพศเพราะยากจน เชื่อมโยงกับนโยบายที่ไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เกิดระบบเศรษฐกิจที่เอารัดเอาเปรียบ นโยบายการพัฒนาที่ไม่สมดุล การศึกษาที่ไม่พัฒนาคน พอจบ ม.6 ม.3 ก็ไม่มีงานทำ ไม่มีความสามารถ คนจำนวนไม่น้อยจึงเลือกมาทำงานบริการทางเพศ ขายตัว แล้วก็เกิดปัญหาโรคเอดส์ รวมทั้งค่านิยมที่ผลักภาระให้ผู้หญิงต้องรับผิดชอบ เกี่ยวกับครอบครัว ศาสนาด้วย
    ปัญหาสุขภาวะ ไม่ได้มีแค่ทัศนคติรักนวลสงวนตัวอย่างเดียว หากแต่เชื่อมกับสิ่งแวดล้อม นโยบายเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา นโยบายการพัฒนา บทบาทสถาบันศาสนาด้วย หากไม่จัดการแก้ไขให้ดี มันก็จะเกิดปัญหาโรคเอดส์อยู่วันยังค่ำ ไม่อาจแก้ได้ตลอด รอดฝั่ง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสุขภาวะทางกายนี้เชื่อมโยงกับนโยบายสาธารณะของสังคมมากทีเดียว
    ปัญหาสิ่งเสพติด เช่นเหล้า มีคนดื่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเหล้าหาซื้อง่าย มีคนทำวิจัยว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนทุกหนแห่งทั่วประเทศ คนไทยสามารถหาซื้อเหล้าได้ภายในเวลา 7 นาที ในเมืองก็มีร้านสะดวกซื้อ ในหมู่บ้านก็ร้านเหล้าทั่วไป เดินหรือขี่มอเตอร์ไซค์ไปเพียง 7 นาที ก็ซื้อได้ ดังนั้น ปัญหาสิ่งเสพติดต่างๆ ไม่ใช่มาจากเรื่องทัศนคติอย่างเดียว แต่มาจากการเข้าถึงง่ายด้วย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการควบคุมแหล่งที่มาหรือการเข้าถึง รวมทั้งสัมพันธ์กับนโยบายทางสังคมด้วย ไม่ได้มีแต่เรื่องสำนึกทางศาสนา ว่าต้องมีศีลห้าอย่างเดียว

    ถึงที่สุดแล้วสุขภาวะทั้ง 4 ประการนี้ เราต้องมองให้เห็นว่ามันเชื่อมโยงกับกลไกลทางสังคมอย่างไรบ้าง ซึ่งจะสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ด้วยนโยบายสาธารณะ และนโยบายถ้าจัดการดีๆ มันช่วยแก้ปัญหาและเป็นวิธีการที่ถูกมาก เช่น กรณีคุณหมอวิทยาที่ต้องผ่าตัดช่วยชีวิตคนประสบอุบัติเหตุ ท่านบอกว่าผ่าตัดทั้งชีวิตก็ไม่เท่ารณรงค์เรื่องใส่หมวกกันน็อก มันเป็นนโยบายป้องกัน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้มาก ได้เร็วขึ้น และเมื่อเร็ว ๆ นี้มีงานศึกษาเรื่องผู้ป่วยในห้องไอซียู ที่มักติดเชื้อปอดบวมและเสียชีวิต ถามว่าเชื้อมาจากไหน ศึกษากันตั้งนาน จึงพบว่าแท้ที่จริงแล้วปัญหามาจากท่อที่ใส่เข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยมีการติดเชื้อ หมอและพยาบาลช่วยผู้ป่วยหนักให้ฟื้นขึ้นมา แต่กลับมาตายเพราะโรคติดเชื้อที่มาจากท่อที่หมอใส่ให้ วิธีการแก้ไขจึงง่ายมาก ผู้ศึกษาจึงมีข้อเสนอสำหรับหมอและพยาบาลในห้องไอซียูของโรงพยาบาล 5 ประการ คือ ล้างมือด้วยสบู่ ทำความสะอาดผิวหนังผู้ป่วย เอาผ้าคลุมร่างผู้ป่วย สวมหน้ากาก หมวก และ ถุงมือ เอาผ้าปลอดเชื้อปิดทับท่อบริเวณที่ใส่เข้าไปในร่างกาย ที่ผ่านมาโรงพยาบาลไม่ได้ทำ ๕ประการอย่างครบถ้วน ก็รณรงค์ให้พยาบาลตรวจเช็ค ระยะแรกหมอจะไม่ยอมให้พยาบาลเช็คตัวเอง แต่ที่สุดก็ยอม ปรากฏว่าการตายจากภาวะติดเชื้อลดลงจากร้อยละ 11 จนเป็นศูนย์ ภายในเวลา 10 วัน สามารถช่วยชีวิตคนได้หลายสิบคนในช่วง 3 เดือน นอกจากนั้นยังสามารถประหยัดงบประมาณได้หลายล้านเหรียญสหรัฐ ไม่มีคนเชื่อว่าทำแค่ 5 อย่างนี้เอง จึงมีการรณรงค์เรื่องนี้กับโรงพยาบาลของรัฐที่รัฐมิชิแกน ซึ่งมีอัตราการตายในห้องไอซียูสูง ให้ผู้อำนวยการตรวจตราดูว่ามีสบู่ครบไหม บางโรงพยาบาลสบู่ไม่พอ แต่พอทำแล้วปรากฏว่า 3 เดือนแรก อัตราการตายเพราะติดเชื้อลดลงร้อยละ 66 แค่ 18 เดือนแรกประหยัดงบประมาณไป 175 ล้านเหรียญฯ รวมทั้งสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ 1,500 กว่าราย

    ที่กล่าวมานี้ พยายามชี้ว่าวิธีการแก้ปัญหา อาจสามารถทำเรื่องง่ายๆ 4 - 5 เรื่อง ส่งผลให้ประหยัดงบประมาณ เพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยชีวิตคนได้มากกว่าการค้นคิดผลิตเทคโนโลยีมากมาย คุณช่วยเหลือผู้ป่วยสมองกะโหลกร้าวซึ่งเป็นโรคที่รักษายากได้จนเกือบจะรอดแล้ว แต่ต้องมาตายเพราะติดเชื้อจากท่อหรือสายยาง

    การใช้มาตรการบางอย่างแลดูเหมือนง่าย แต่มีพลังในการช่วยแก้ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพมาก หากเราหันมาให้ความสนใจคิดเรื่องนี้ พยายามคิดนโยบายที่ดูมันไม่ยากมาช่วยแก้ปัญหา อย่าไปดูถูกเรื่องที่ง่ายไม่ซับซ้อน เหมือนอย่างกรณีที่คิดว่าเราอาจควบคุมพื้นที่เสี่ยงได้ โดยไม่ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเดียว แต่ด้วยวิธีอื่นด้วย อาทิ การนำเอาชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมช่วยแก้ไข ถ้าลดพื้นที่เสี่ยงได้ เชื่อว่าเราจะลดปัญหาเยาวชนได้เป็นจำนวนมาก เพราะบางอย่างมันมีผลเชื่อมโยงกันอย่างที่เรานึกไม่ถึง

    ทั้งหมดนี้ จะเห็นความเชื่อมโยงระหว่าง สิ่งที่เรียกว่า ธรรม สุขภาวะ และนโยบายสาธารณะ ที่จะเข้ามาเสริมช่วยให้เกิดความเกื้อกูลให้เกิดสุขภาวะทั้ง 4 ประการอย่างครบถ้วน ทั้งในระดับบุคคล และสังคม
    :- https://visalo.org/article/healthDhamperSukapawa.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...